คอนโด VS ฤดูฝน รับมืออย่างไรในหน้าฝนนี้
คอนโด VS ฤดูฝน รับมืออย่างไรในหน้าฝนนี้
ในช่วงหน้าฝน เป็นช่วงที่ชาวคอนโดควรให้ความใส่ใจและดูแลคอนโดมากเป็นพิเศษ เพราะเป็นช่วงที่มักจะมีปัญหาหรือเสี่ยงอันตรายมากที่สุดปัญหาบางอย่างอาจไม่สามารถตรวจเช็กได้ล่วงหน้า ต้องเข้าไปอยู่ถึงจะรู้ ในบทความนี้จะขอพูดถึงเฉพาะการแก้ปัญหาที่เราสามารถทำได้เองโดยไม่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ส่วนกลางหรือนิติบุคคลมาฝากกันค่ะ
1.ระเบียงลื่นและมีน้ำขัง
ระเบียงคอนโดส่วนใหญ่ทางโครงการจะปูพื้นกระเบื้องมาให้เมื่อมีน้ำขังหรือฝนสาดทำให้ลื่นได้ง่าย"การพลัดตกหกล้ม" ดูเหมือนเป็นอุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่น่าจะสร้างความเสียหายอะไรมากมายใช่ไหมล่ะคะ? แต่รู้หรือไม่ว่าการพลัดตกหกล้มมีอันตรายกว่าที่คิด เพราะหากดูตามการรายงานของของศูนย์อุบัติเหตุกรุงเทพฯ ของโรงพยาบาลกรุงเทพ ก็จะพบว่าการพลัดตกหกล้มเป็นสาเหตุการตายอันดับ 2 ของคนไทยในกลุ่มของการบาดเจ็บโดยไม่ตั้งใจ (Unintentional) ซึ่งเป็นรองแค่การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเท่านั้น และมีความเสี่ยงมากกับกลุ่มผู้สูงอายุ แต่อย่างไรก็ตามขึ้นชื่อว่าอุบัติเหตุย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นกับทุกคนเสมอ ไม่เว้นแม้แต่ในบ้านของเราเอง โดยเฉพาะบริเวณที่มีความเฉอะแฉะ เช่น ห้องน้ำห้องครัว ลานกระเบื้อง และระเบียง
บางครั้งต่อให้เราเดินอย่างระมัดระวังกันแค่ไหน ก็ยังไม่วายเดินลื่นล้มจนเป็นแผลระบมไปทั้งตัวอยู่ดี หรือไม่ก็ปวดเนื้อเมื่อยตัวเป็นรอยฟกช้ำดำเขียวลามไปจนถึงอวัยวะภายใน กว่าจะหายก็กินเวลานานโขทีเดียว จะดีกว่าไหมหากเราหาทางป้องกันกันตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะบ้านที่มีเด็กกับผู้สูงอายุอยู่ร่วมชายคาด้วย ฉะนั้นก่อนที่จะมีใครสักคนล้มหมอนนอนเสื่อจนถึงขั้นต้องให้น้ำเกลือ เรามาหาทางป้องกันกันไว้ก่อนดีกว่า จึงขอเสนอไอเดียที่สามารถนำมาปฎิบัติด้วยตนเองได้ง่ายๆในราคาน่าคบหา นั่นก็คือ...การนำแผ่นพื้นไม้สำเร็จรูปหรือแผ่นทางเดินเท้าที่มียางรองกันลื่นรองรับโครงไม้มาปูทับบนกระเบื้องที่ระเบียงค่ะ หรือถ้าใครที่ชื่นชอบการปลูกต้นไม้อยู่แล้วก็สามารถหาก้อนกรวดขนาดใหญ่หรือหินแม่น้ำนำมาโรยทางเดินก็ทำได้เช่นกันค่ะ หรือไม่อยากจะเสียเงินเสียทองลงทุนปูกระเบื้องพื้นใหม่ก็ยังมี “น้ำยากันพื้นลื่น” เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยแก้ปัญหาให้คุณได้เช่นกันค่ะทั้งสีและความเงาของกระเบื้องยังคงเดิม (ผลลัพธ์ขึ้นอยู่กับชนิดของกระเบื้องด้วยเช่นกัน) แต่ถ้าลองสัมผัสผิวกระเบื้องจะเห็นถึงความแตกต่าง โดยผิวกระเบื้องที่ลงน้ำยากันลื่นจะรู้สึกฝืดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเปียกน้ำ เดินแล้วไม่รู้สึกลื่นเหมือนกระเบื้องปูพื้นปกติ แต่ภาพรวมของกระเบื้องยังสวยงามเหมือนเดิม
ข้อดีของการใช้น้ำยากันพื้นลื่นที่นอกจากจะช่วยลดอุบัติเหตุจากการลื่นล้มได้แล้ว ยังมีวิธีการใช้งานและการทำความสะอาดได้ง่าย เห็นผลเร็ว และยังมีราคาถูกเมื่อเทียบต่อตารางเมตร และเนื่องจากน้ำยากันพื้นลื่นเข้าไปเปลี่ยนลักษณะทางกายภาพของกระเบื้อง ไม่ใช่แค่การเคลือบผิวกระเบื้อง จึงมีระยะการใช้งานที่ยาวนาน ต่างจากผลิตภัณฑ์กันลื่นชนิดอื่น ๆ ที่หลุดลอกออกได้ เช่น เทปกันลื่น ที่สำคัญยังป้องกันการลื่นเป็นบริเวณกว้างได้มากกว่าหากเทียบกับแผ่นยางกันลื่น
แต่การใช้น้ำยากันลื่นก็มีสิ่งที่ควรต้องระวังคือ อาจมีการเปลี่ยนความเงาของกระเบื้องหลังการใช้ เช่น ความเงาลดลงซึ่งจะไม่สามารถทำให้กลับมาเงาเหมือนเดิมได้อีก นอกจากนี้การใช้งานมีขั้นตอนการทำที่ยุ่งยากกว่านิดหน่อยเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้แผ่นยางกันลื่นหรือเทปกันลื่น
2.เชื้อราในหน้าฝน
เข้าหน้าฝนทีไร อากาศในบ้านมักอับเเละมีความชื้นสูง เป็นต้นเหตุให้เจ้าเชื้อราอาละวาด เกิดรอยจุดด่างดำแพร่กระจายไปทั่วตามผนังบ้านทั้งภายในภายนอก หรือไปอยู่บนฝ้าเพดาน ตามเฟอร์นิเจอร์ของเรา นอกจากจะเป็นภาพที่ไม่สวยงามแล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาพเราอีกด้วย
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กลุ่มของเชื้อรามักมีรอยจุดสีต่างๆ เช่น สีดำ สีน้ำตาล สีเขียวสีแดง สีเหลือง สีขาว ลักษณะเป็นดวงและมีกลิ่นเหม็นอับ หรือเหม็นคล้ายกลิ่นดิน เชื้อรามักจะเจริญเติบโตซ่อนอยู่ตามที่ต่างๆ ภายในบ้าน เช่น ฝ้าเพดาน ผนังใต้พื้น ใต้พรม วอลเปเปอร์ ตู้เสื้อผ้า ฟูก หมอน เครื่องหนัง เป็นต้น
เมื่อทำความสะอาดบ้านเรือนของตนเอง เราอาจจะสูดหายใจสปอร์ของเชื้อราที่ปลิวอยู่ในอากาศภายในบ้านเข้าไป ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น เกิดโรคภูมิแพ้ มีไข้ จาม น้ำมูกไหล โรคปอดอักเสบจากภูมิแพ้โรคหอบหืด ก่อให้เกิดการระคายเคืองตา จมูก หลอดลม ทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนและอาการแพ้เป็นผื่นลมพิษ ดังนั้นกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีข้อแนะนำในการกำจัดเชื้อราง่ายๆ 5 ขั้นตอนมาฝาก
1.ป้องกันตนเองด้วยการสวมอุปกรณ์
สวมรองเท้าบู๊ตยาง สวมถุงมือยางจะช่วยป้องกันเชื้อราสัมผัสผิวหนังเราโดยตรง หรือใส่แว่นตาป้องกันเชื้อรากระเด็นเข้าตา และใส่ผ้าปิดปากปิดจมูกป้องกันการหายใจเอาสปอร์เชื้อราและไอระเหยสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย
2.การระบายอากาศ
ในระหว่างทำความสะอาดควรเปิดประตู หน้าต่าง ม่าน เพื่อให้อากาศถ่ายเทและให้มีแสงแดดส่องถึง ที่สำคัญไม่ควรเปิดแอร์และพัดลมในระหว่างการทำความสะอาด เพราะจะทำให้สปอร์ของเชื้อราฟุ้งกระจายได้
3.การทำความสะอาด
เฟอร์นิเจอร์
ให้ล้างเฟอร์นิเจอร์ด้วยน้ำและสบู่เพื่อขจัดสิ่งสกปรกออกก่อน หลังจากนั้นให้ล้างด้วยน้ำยาโซเดียมไฮโปคลอไรต์ หรือผงปูนคลอรีน 0.5 เปอร์เซ็นต์ หรือใช้ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปน้ำยาซักผ้าขาวที่มีส่วนผสมของโซเดียมไฮโปคลอไรต์ ซึ่งสามารถหาซื้อได้ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป นำมาผสมกับน้ำในอัตราส่วนน้ำยาซักผ้าขาว 3-5 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 1 แกลลอน (ประมาณ 3.8 ลิตร)
วอลเปเปอร์
สำหรับเชื้อราที่ขึ้นเป็นจุดๆ บนวอลเปเปอร์และผนัง ให้เช็ดด้วยแอลกอฮอล์ล้างแผล 70 เปอร์เซ็นต์ ผสมกับกรดซาลิไซลิกในอัตราส่วน 5 ต่อ 1 แต่หากพบว่ามีเชื้อราเป็นจำนวนมาก ควรเปลี่ยนวอลเปเปอร์และผนังใหม่
เครื่องหนัง
ส่วนเชื้อราบนเครื่องหนังให้ใช้น้ำส้มสายชูเช็ดถูหลายๆ ครั้ง เมื่อเครื่องหนังแห้งแล้วให้เช็ดด้วยน้ำยาทำความสะอาดอีกครั้ง และใช้ครีมเช็ดรองเท้าเช็ดถูปิดท้าย หลังจากการทำความสะอาดเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เสร็จแล้ว ให้ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อราเช็ดหรือพ่นบริเวณที่มีเชื้อราเจริญ ต่อเนื่องทุกวันจนเชื้อราหายไป จากนั้นเว้นระยะเช็ด หรือพ่นเป็นสัปดาห์ละครั้งเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เชื้อราเจริญเติบโตอีก
4.การทำให้แห้ง
หลังทำความสะอาดและฆ่าเชื้อราในบ้านเสร็จแล้วให้เปิดพัดลมเป่าในบ้านและอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เปิดหน้าต่าง ประตูเพื่อให้อากาศถ่ายเทเอาสปอร์ของเชื้อราออกจากตัวบ้าน จนมั่นใจว่าบ้านและอุปกรณ์ต่างๆ แห้งสนิท
5.ตรวจสอบเชื้อรา
หลังจากทำความสะอาดไปแล้ว 2-3 วัน ให้สังเกตว่ามีเชื้อราเจริญเติบโตอีกหรือไม่ ถ้ายังพบว่ามีเชื้อราให้ทำความสะอาดซ้ำ หากมีเชื้อราเกิดขึ้นอีกให้ตรวจสอบระบบระบายอากาศ ระบบแอร์ทั้งหมด และระดับความชื้นภายในบ้านด้วย
ภาพจาก https://www.pinterest.com
บทความอื่นๆที่ท่านอาจสนใจ การลดความชื้นในบ้าน
19 กันยายน 2561
ผู้ชม 1986 ครั้ง